|
คำพิพากษาฎีกาย่อยาว
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1ให้ประทับฟ้อง จำเลยอื่นให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 161 กระทงหนึ่ง ซึ่งเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 2 ปี และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา177 วรรคสอง ประกอบมาตรา 181 อีกกระทงหนึ่ง ให้จำคุก 1 ปี รวม2 กระทง ให้จำคุก 3 ปี ข้อหาอื่นให้ยก จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัย "... โจทก์มิได้ปลอมลายมือชื่อผู้ขายที่ดินตามสัญญาซื้อขาย ครั้นเมื่อโจทก์ถูกจับกุมในวันที่ 14 สิงหาคม2527 จึงไม่มีเหตุผลที่โจทก์จะให้การรับสารภาพดังที่ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 เมื่อได้ตรวจเอกสารหมาย จ.3 โดยละเอียดแล้วข้อความที่ระบุว่าสอบถามผู้ต้องหาแล้วให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ปรากฏว่าตัวอักษรมีขนาดเล็กกว่าข้อความอื่น แสดงว่าเป็นข้อความที่เขียนสอดแทรกขึ้นมาใหม่ มิใช่เขียนในคราวเดียวกันข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริงและจำเลยที่ 1 ได้เขียนขึ้นภายหลังที่โจทก์ได้ลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุมดังกล่าวแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่ทำการจับกุมโจทก์ มีทำหน้าที่ทำและกรอกข้อความในบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.3 ได้ทำและกรอกข้อความลงในบันทึกการจับกุมนั้นโดยลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำบันทึก พร้อมทั้งให้โจทก์ในฐานะผู้ต้องหาลงลายมือชื่อจนเป็นเอกสารที่ครบถ้วนบริบูรณ์แล้วการที่จำเลยที่ 1 ไปเขียนเติมข้อความอีกว่าสอบถามผู้ต้องหาแล้วให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาจึงเป็นการเติมข้อความในเอกสารที่แท้จริง น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ อันเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นบางส่วนโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้นแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 ส่วนข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้นเห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการจับกุมผู้กระทำความผิด ได้จับกุมโจทก์ในข้อหาปลอมเอกสารแต่กรอกข้อความเพิ่มเติมลงในบันทึกจับกุมเอกสารหมาย จ.3 ว่า สอบถามโจทก์แล้วให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาทั้งที่ทราบว่าข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เพราะบันทึกการจับกุมดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งที่ศาลอาจฟังลงโทษโจทก์ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อมาว่าจำเลยที่ 1กระทำความผิดฐานเบิกความเท็จหรือไม่ ก่อนวินิจฉัยข้อเท็จจริงในปัญหาดังกล่าวได้ตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้ว โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เบิกความว่า "ข้าพเจ้าเข้าไปแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานและขอจับกุมโดยแสดงหมายจับให้จำเลยที่ 1 ดูด้วย ข้าพเจ้าแจ้งข้อหาจำเลยฐานปลอมเอกสารตามข้อความในหมายจับ จำเลยให้การรับสารภาพ" ซึ่งเป็นความเท็จและเป็นข้อสำคัญในคดี โจทก์หาได้บรรยายฟ้องว่า ข้อที่จำเลยที่ 1 เบิกความเท็จเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไรฟ้องโจทก์จึงขาดการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดเท่าที่จะทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจข้อหาได้ดี ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในข้อหานี้ได้ ไม่จำต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ฎีกาอีกต่อไป ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายมีว่าในวันที่จำเลยที่ 1 เบิกความโจทก์มิได้มาซักค้านเพราะโจทก์จำวันเวลานัดของศาลผิดไป โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตซักค้าน ศาลชั้นต้นยกคำร้องของโจทก์ จึงขอให้ศาลฎีกากลับคำสั่งของศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ซักค้านพยานปากนี้นั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว โจทก์มิได้อุทธรณ์ในข้อที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจสั่งยกคำร้องของโจทก์ดังกล่าว อันเป็นการโต้แย้งในปัญหาข้อเท็จจริง โจทก์เพิ่งกล่าวอ้างขึ้นมาในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย" พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 161 ซึ่งเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90จำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ บทความที่น่าสนใจ-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่ -ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก -การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม -การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร -เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น -ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร -ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม -ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้ -การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน -เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร -การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ -คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้ -ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้ -ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร -ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ -หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่ -การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด -ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่ -ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร -คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว -การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่
|